วิสัยทัศน์
เป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำระดับชาติและเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์
พันธกิจ
1. ผลิตอายุรแพทย์โรคมะเร็งที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีจริยธรรม ให้เพียงพอต่อความต้องการของระบบบริการสุขภาพ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข
2. ให้บริการดูแลรักษา สร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วย มีการส่งต่ออย่างเป็นระบบ ผู้ป่วยได้รับความพึงพอใจ
3. สนับสนุนการพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย
พันธกิจหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
งานโรคมะเร็ง กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี มีนโยบายผลิตอายุรแพทย์โรคมะเร็ง ให้เพียงพอต่อความต้องการของระบบบริการสุขภาพของประเทศตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ให้มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยในเวชปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพในระดับดีมาก สร้างเสริมสุขภาพที่มุ่งประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม ให้การบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศ มีความเข้าใจในระบบสาธารณสุข สามารถบริหารทรัพยากรสุขภาพได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศ สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระในการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบภายใต้การบริหารจัดการกระบวนการด้านคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอย่างดี รวมทั้งมีความรู้ด้านสาขาอื่น ๆ อย่างรอบด้าน มีความเป็นมืออาชีพที่ได้ รับการยอมรับในสังคมวงกว้าง เป็นต้นแบบให้กับอายุรแพทย์โรคมะเร็งในโรงพยาบาลอื่น ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย มาสู่กระบวนการรักษา มีการพัฒนาการเรียนรู้ในวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง สามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุข สื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานได้ดี ปรับตัวตามความหลากหลายของสังคมและวัฒนธรรม มีจริยธรรมยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบ มีความเอื้ออาทร มีทัศนคติและเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กร มีจิตสำนึกการเป็นจิตอาสาและพร้อมในการให้บริการทางอายุรศาสตร์มะเร็งที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล นำมาสู่การพัฒนาบริการสุขภาพระดับตติยภูมิด้านมะเร็งที่เป็นเลิศ เป็นประโยชน์สูงสุดแก่สังคมชุมชน สถาบันและประเทศชาติ
เกณฑ์การคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน/ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
1. พิจารณารับแพทย์ประจำบ้านหรือแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาตามจำนวนที่แพทยสภากำหนดไว้
2. ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบของแพทยสภาและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ
3. การตัดสินการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน พิจารณาจากปัจจัยดังนี้
3.1. คะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตร
3.2. มีต้นสังกัดเข้าฝึกอบรม
3.3. คะแนนการสัมภาษณ์
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
1. ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต หรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรองได้รับการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาแล้ว ผ่านการปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะ สามารถสมัครเข้าฝึกอบรมชั้นปีที่ 1 ได้
2. เป็นผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาอายุรศาสตร์ของแพทยสภา หรือเป็นแพทย์ประจำบ้านปีสุดท้ายในการฝึกอบรมเพื่อวุฒิบัตรฯสาขาอายุรศาสตร์ หรือเป็นผู้มีสิทธิ์สอบเพื่อวุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์ในปีนั้น สามารถสมัครเข้าฝึกอบรมในชั้นปีที่ 3 ได้
3. เป็นผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรและหนังสืออนุมัติสาขาโลหิตวิทยาของแพทยสภาหรือเป็นแพทย์ประจำบ้านปีสุดท้ายในการฝึกอบรมเพื่อวุฒิบัตรฯสาขาโลหิตวิทยา หรือเป็นผู้มีสิทธิ์สอบเพื่อวุฒิบัตรสาขาโลหิตวิทยาในปีนั้นสามารถ สมัครเข้าฝึกอบรมในชั้นปีที่ 3 ได้
4. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์แพทยสภาในการเข้ารับการฝึกบรมแพทย์เฉพาะทาง
5. เป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกโดยงานโรคมะเร็ง พิจารณาจากผู้ที่ยื่นใบสมัครมา
6. กรณีเป็นชาวต่างชาติต้องสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
7. กรณีมีความพิการทางร่างกายต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน
วิธีการคัดเลือก
การคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน/แพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา ของงานโรคมะเร็ง โรงพยาบาลราชวิถี มีการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกที่ชัดเจนและมีการทบทวนทุกปี โดยพิจารณาจากความต้องการของประเทศและผลการฝึกอบรมของผู้ที่กำลังฝึกอบรมหรือผ่านการฝึกอบรมแล้ว รวมทั้งมีแบบบันทึกวิธีการประเมินที่ชัดเจน ยึดหลักความเสมอภาค โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีกระบวนการการคัดเลือก ดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมการวิชาการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน ประกอบด้วย
- หัวหน้างานโรคมะเร็งหรือผู้แทน
- ประธานการบริหารหลักสูตรอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาหรือผู้แทน
- ประธานการศึกษาก่อนปริญญาหรือผู้แทน
- อาจารย์ที่ได้รับการเสนอชื่อจากงานโรคมะเร็งอย่างน้อย 2 ท่าน
2. ประกาศเกณฑ์การสัมภาษณ์ และการคัดเลือก ให้ทราบโดยทั่วกันโดยกันผ่านเว็ปไซต์โรงพยาบาล เว็ปไซต์มะเร็งวิทยาสมาคม และหนังสือราชการถึงกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเผยแพร่ต่อไป
3. ดำเนินการประชุมคัดเลือกและสอบสัมภาษณ์ผู้สมัครโดยคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ ตามกำหนดเวลาและหลักเกณฑ์ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ
4. ตัดสินผลการคัดเลือกตามเกณฑ์การคัดเลือกข้างต้น กรณีที่คะแนนใกล้เคียงกันขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการการสอบสัมภาษณ์
5. แจ้งผลการคัดและส่งผลให้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยทราบเพื่อดำเนินการขั้นต่อไป หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลการคัดเลือกสามารถยื่นขอรายละเอียดและอุทธรณ์ผ่านหัวหน้างานโรคมะเร็ง หรือหัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์
ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร
แพทย์ที่จบการฝึกอบรมต้องสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเองตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน ดังนี้
I การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient care)
1.มีทักษะในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย นำไปสู่การตัดสินใจให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
2.มีทักษะในการตรวจพบโรคมะเร็งระยะแรก การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและสร้างเสริมสุขภาพ
3.มีทักษะในการดําเนินการเพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งระยะต่างๆ
4.มีทักษะในการวางแผนในการรักษาโรคมะเร็งระยะต่างๆรวมถึงการรักษาแบบประคับประคอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.บันทึกรายงานผู้ป่วยได้อย่างสมบูรณ์และสม่ำเสมอ
II. ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical knowledge and skills)
1. เข้าใจวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกาย และจิตใจ
2. มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ และความเชี่ยวชาญในสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
III. การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based learning)
1. ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
2. การใช้ยาและทรัพยากรอย่างสมเหตุผล
3. เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
IV. ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)
1. นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์
3. สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของความเมตตา เคารพในการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
4. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
V. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
1. มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน
2. มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Continuous professional development)
3. มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
4. คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
VI. การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)
1. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพและระบบยาของประเทศ
2. มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
3. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย
4. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้ป่วย
5. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (Cost Consciousness Medicine)
สามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ
คณะกรรมการฝึกอบรม ติดตามและประเมินหลักสูตรอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา งานโรคมะเร็ง กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี
อ.นพ. เจษฏา มณีชวขจร (ที่ปรึกษา)
อ.พญ. กุลธิดา มณีนิล (ประธานกรรมการ)
อ.พญ. ปิยวรรณ เทียนชัยอนันต์ (รองประธานกรรมการ)
อ.นพ. ทรงวิทย์ พายัพวัฒนวงษ์ (กรรมการ)
อ.นพ. สุนที สงวนไทร (กรรมการและเลขานุการ)
อ.พญ. จิติมา ติยายน (ที่ปรึกษาเพิ่มเติมและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทยศาสตร์ศึกษา)
ผู้แทนแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 หรือแพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีที่ 1 (กรรมการ)
ผู้แทนแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 4 หรือแพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีที่ 2 (กรรมการ)
น.ส. สุดารัตน์ เรืองฤทธิ์ (ผู้ช่วยผู้ประสานงาน)
ติดต่อสอบถาม
เลขที่ 2 งานโรคมะเร็ง กลุ่มงานอายุรศาสตร์ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร.02-3548108-37 ต่อ 2540
FAX : 02-3548179