วิสัยทัศน์
หน่วยมะเร็งวิทยาเป็นกำลังสำคัญของภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการพัฒนาการเรียน การสอน การวิจัย สาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา บัณฑิตที่ได้รับการฝึกอบรมจากหน่วยมะเร็งวิทยา สามารถครองตน ครองคน ครองงาน ด้วยมโนธรรมและจิตสำนึกต่อสังคมดังปณิธานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พันธกิจ
1. ผลิตอายุรแพทย์มะเร็งวิทยาให้มีความรู้ ทักษะ ด้านอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา มีความเป็นมืออาชีพสามารถปฏิบัติงานเป็นทีม ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงานและองค์กร
2. ผลิตอายุรแพทย์มะเร็งวิทยาที่มีความสามารถในการเรียนรู้ได้เองเพื่อให้มีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
3. ผลิตอายุรแพทย์มะเร็งวิทยาที่มีความสามารถในการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่
4. จัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน/ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดโดยยึดผู้เข้าฝึกอบรม (learner-centered) และการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง (learning-centered) ใส่ใจความปลอดภัย ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวแบบองค์รวม
เกณฑ์การคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน/ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
1. พิจารณารับแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ใช้ทุน สาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา ตามจำนวนที่แพทยสภากำหนดไว้
2. ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบของแพทยสภาและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ
2.1. ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต หรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรองได้รับการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาแล้ว ผ่านการปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะ สามารถสมัครเข้า ฝึกอบรมชั้นปีที่ 1 ได้
2.2. เป็นผู้ที่ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติสาขาอายุรศาสตร์ของแพทยสภา หรือเป็นแพทย์ประจําบ้านปีสุดท้าย ในการฝึกอบรมเพื่อวุฒิบัตรฯสาขาอายุรศาสตร์หรือเป็นผู้มีสิทธิ์สอบเพื่อวุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์ในปีนั้น สามารถสมัครเข้าฝึกอบรมในชั้นปีที่ 3 ได้
2.3. เป็นผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรและหนังสืออนุมัติสาขาโลหิตวิทยาของแพทยสภาหรือเป็นแพทย์ประจําบ้านปีสุดท้ายใน การฝึกอบรมเพื่อวุฒิบัตรฯ สาขาโลหิตวิทยาหรือเป็นผู้มีสิทธิ์สอบเพื่อวุฒิบัตรสาขาโลหิตวิทยาในปีนั้นสามารถ สมัครเข้าฝึกอบรมในชั้นปีที่ 3 ได้
2.4. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์แพทยสภาในการเข้ารับการฝึกบรมแพทย์เฉพาะทาง
การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม
หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ชัดเจนและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสัมภาษณ์ผู้สมัครเป็นลายลักษณ์อักษร โดยยึดหลักความเสมอภาค โปร่งใส และตรวจสอบได้
วิธีการคัดเลือก
1. ผู้สมัครส่งใบสมัครเป็นทางการให้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ตามกำหนดการรับสมัคร พร้อมส่งหลักฐานประกอบการรับสมัครให้ หน่วยมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. สอบสัมภาษณ์ผู้สมัครโดยคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ โดยกำหนดเวลาและหลักเกณฑ์ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ
3. ตัดสินผลการคัดเลือกตามเกณฑ์การคัดเลือกข้างต้น กรณีที่คะแนนใกล้เคียงกันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการการสอบสัมภาษณ์
4. แจ้งผลการคัดเลือกให้ผู้สมัครรับทราบตามกำหนดเวลาของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้แพทยสภาโดยผ่านราชวิทยาลัยอายุรแพทย์
จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม
อ้างอิงจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สาขามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ รับผู้เข้าฝึกอบรมได้ในสัดส่วนชั้นปีละ 1 คน ต่ออาจารย์ผู้ฝึกอบรม 2 คนในตําแหน่ง รวมทั้งต้องมีงานบริการที่กำหนดครบ (ปัจจุบันหน่วยมะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอาจารย์เต็มเวลา 4 ท่าน บางเวลา 1 ท่าน ขณะนี้รับผู้เข้าฝึกอบรมปีการศึกษาละ 2 ท่าน)
ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร
แพทย์ที่จบการฝึกอบรมต้องสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเองตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน ดังนี้
I การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient care)
1.มีทักษะในการซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างสมเหตุสม ผลรวมทั้งทำหรือส่งทำหัตถการที่จำเป็น รวมถึงการรวบรวมข้อมูลสำหรับนำไปคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจให้มีการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
2.มีทักษะในการให้คำแนะนำในการตรวจพบโรคมะเร็งระยะแรกเริ่มรวมถึงการให้คำแนะนำเพื่อ การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
3.มีทักษะในการวินิจฉัย บำบัด รักษาโรคมะเร็งทุกระยะ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
4.มีทักษะในการวางแผนปรึกษาและประสานงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อการรักษาโรคมะเร็งระยะต่าง ๆ รวมถึงการรักษาแบบประคับประคอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีทักษะในการรักษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น เช่น ศัลยศาสตร์ นรีเวชวิทยา รังสีรักษา จิตแพทย์และอื่น ๆ รวมทั้งวิชาชีพอื่น เช่น พยาบาล นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
5.บันทึกรายงานผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง สมบูรณ์และสม่ำเสมอ
II. ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical knowledge and skills)
1. เข้าใจวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกาย และจิตใจ
2. มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ และความเชี่ยวชาญในสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
III. การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based learning)
1. ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
2. การใช้ยาและทรัพยากรอย่างสมเหตุผล
3. เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
IV. ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)
1. นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์
3. สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของความเมตตา เคารพในการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
4. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
5. เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์และบุคลากรอื่นโดยเฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
V. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
1. มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน
2. มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Continuous professional development)
3. มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
4. คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
VI. การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)
1. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพและระบบยาของประเทศ
2. มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
3. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย
4. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้ป่วย
5. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (Cost Consciousness Medicine)
สามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ
คณะกรรมการฝึกอบรม ติดตามและประเมินหลักสูตรอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.พญ.นันทนา กสิตานนท์ (ที่ปรึกษา)
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ตันติวรวิทย์ (ที่ปรึกษา)
รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง (ประธานกรรมการ)
รศ.นพ.ชัยยุทธ เจริญธรรม (กรรมการ)
อ.นพ.ธัชธรรม์ สุขสมบูรณ์เจริญ (กรรมการ)
ผู้แทนแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 (กรรมการ)
ผู้แทนแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 4 (กรรมการ)
อ.พญ.ธนิกา เกตุเผือก (กรรมการและเลขานุการ)